ธรรมเนียมการสวม “พระมหาพิชัยมงกุฎ”
ธรรมเนียมการสวม “พระมหาพิชัยมงกุฎ” เพิ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๔
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยโบราณ จะให้ความสำคัญการถวายน้ำอภิเษก พูดภาษาชาวบ้าน คือ “การรดน้ำ” คำใดก็ตามที่ผสมด้วยคำว่า “อภิเษก” จะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำทั้งสิ้น
ในสมัยโบราณถือว่า “พระมหาพิชัยมงกุฎ” มีความสําคัญเท่าเทียมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และ “พระมหาเศวตฉัตร” เป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษ เมื่อเจ้าพนักงานทูลเกล้าฯ ถวาย “พระมหาพิชัยมงกุฎ” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็จะทรงรับไว้แล้วทอดวางข้างพระองค์โดยมิได้ทรงสวม
กระทั่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงได้รับ “พระมหาพิชัยมงกุฎ” แล้วทรงสวมพระเศียรอันเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากราชสํานักยุโรป ซึ่งถือคติว่า “พระมหากษัตริย์” จะทรงดํารงสภาวะอันสมบูรณ์สูงสุดก็ต่อเมื่อได้ทรงสวมมงกุฎแล้ว
นับแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา จึงถือว่า “พระมหาพิชัยมงกุฎ” เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่งและถือว่าในขณะที่ทรงสวม “พระมหาพิชัยมงกุฎ” เป็นช่วงเวลาที่สําคัญยิ่งในพระราชพิธี โดยพระมหาราชครูพราหมณ์จะทูลเกล้าฯ ถวาย “พระมหาพิชัยมงกุฎ” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับและทรงสวมที่พระเศียรด้วยพระองค์เอง
เจ้าพนักงานภูษามาลาผู้ใหญ่กราบบังคมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎให้ตรงแล้วผูกพระรัตนกุณฑลเบื้องหลังถวาย ในขณะที่ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎนั้น พราหมณ์พิธีเป่าสังข์ขับบัณเฑาะว์ประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ ทหารยิงปืนถวายคำนับ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ และสมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับพระมหากษัตริย์ และสมาชิกพระราชวงศ์ต่างประเทศ ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
บรรณานุกรม
พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ “เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”, เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์ มติชน ๒๕๖๒.
เครดิต : โบราณนานมา